รมว.คลัง เตรียมชง Easy E-receipt-กรอบเงินเฟ้อ 68 เข้าครม.สัปดาห์หน้า

IQ > *รมว.คลัง เตรียมชง Easy E-receipt-กรอบเงินเฟ้อ 68 เข้าครม.สัปดาห์หน้า
Thu, 19 Dec 2024 14:39:20
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 2567)--
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า 24 ธ.ค.67 ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของปีนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการของขวัญปีใหม่ 2568 เพื่อช่วยในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน คือ โครงการ Easy E-receipt ซึ่งเงื่อนไขรายละเอียดจะใกล้เคียงกับของเดิม ที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท แบ่งเป็นใบเสร็จรับเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ 30,000 บาท และใบเสร็จรับเงินแบบกระดาษอีก 20,000 บาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มใช้ได้ภายในเดือน ม.ค. 2568
พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน (กรอบเงินเฟ้อ) สำหรับปี 2568 ต่อที่ประชุม ครม.ด้วย โดยยังคงกรอบเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1-3% เช่นเดียวกับปีนี้ โดยภายหลังจากที่ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว จะมีการกำหนดตัวเลขการดำเนินงานกึ่งกลางไว้ที่ระดับ 2% ซึ่งจะต้องเป็นระดับที่ต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการกำหนดว่า จะต้องมีการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ เข้าไปในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายด้วย
"วันนี้ได้ตกลงข้อความดังกล่าวกับ ธปท. แล้ว โดยสิ่งที่รัฐบาลอยากเห็น ไม่ว่าจะมาตรการใดก็ตาม จะเป็นเรื่องดอกเบี้ย หรืออื่น ๆ ก็อยากเห็นว่าจะสามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับตัวขึ้นได้บ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วอยากเห็นอยู่ในค่ากึ่งกลางแถว ๆ 2% เป็นอย่างน้อย เพราะตามธรรมชาติหากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม มันจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่า ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า อยากให้มีการพิจารณากันยาว ๆ มากกว่า ไม่ใช่ดูแค่เพียงระยะ 3 เดือน โดยต้องมาดูวิวัฒนาการว่าจะใช้มาตรการอะไร ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว รัฐบาลก็อยากเห็นเงินบาทอ่อนได้มากกว่านี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้" นายพิชัย กล่าว
ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุว่า ยังยืนยันคำเดิมว่าเรื่องนี้ให้เป็นไปตามการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งส่วนตัวมองว่า หากเศรษฐกิจดี อัตราดอกเบี้ยจะต้องเป็นอัตราที่ไม่ผูกกับนโยบายมากเกินไป และต้องพิจารณาเรื่องการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ เพื่อไปกระตุ้นไปที่รายย่อยมากกว่ารายใหญ่
ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศนั้น ต้องยอมรับว่าเรามาถึงจุดที่ช่องว่างของมาตรการด้านการคลังแคบลง เม็ดเงินที่ใช้ก็แคบลง ดังนั้นนโยบายการด้านเงิน อาจจะต้องเข้ามาพิจารณามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว เพราะนั่นแปลว่าคนพร้อมจะลงทุนมากขึ้น ดังนั้น ธปท. ก็อาจจะต้องมาพิจารณาเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย
"ตามธรรมชาติเราสามารถทำให้พื้นที่ด้านการคลังกว้างขึ้นได้ ด้วยการลดการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำ และอีกวิธีคือเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น เติบโตได้ใกล้เคียง 3.5% และเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ก็จะทำให้ Nominal GDP อยู่ในระดับที่ใช้ได้ และจะส่งผลให้พื้นที่ทางการคลังใหญ่ขึ้น ตามขนาดของเศรษฐกิจ" รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว
สำหรับข้อเสนอของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้มีการศึกษาการใช้บิทคอยน์ ภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้คนถือสินทรัพย์ดิจิทัลใช้จ่ายภายในพื้นที่ที่จำกัดนั้น นายพิชัย กล่าวว่า ถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการใช้จ่ายเงินในอีกรูปแบบหนึ่ง และจะเป็นกลไกที่ช่วยทำให้คนที่ถือสินทรัพย์ดิจิทัลตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายขึ้นกวาการใช้เงินสด ในพื้นที่ที่จำกัดไว้
ส่วนจะนำบิทคอยน์มาเพิ่มในทุนสำรองระหว่างประเทศหรือไม่นั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ ธปท. จะต้องพิจารณา หากเห็นว่าจำเป็น ก็อาจจะต้องเสนอไปตามกฎระเบียบ เช่นเดียวกับครั้งหนึ่งที่เคยพิจารณาจะเพิ่มเงินหยวนเข้าไปในทุนสำรองระหว่างประเทศ
มั่นใจ GDP ปี 68 โตแตะได้ 3-3.5%
รองนายกฯ และรมว.คลัง ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าภาพรวมในไตรมาส 4/67 มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4% ขณะที่ทั้งปี 67 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.7-2.8% ส่วนในปี 68 ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า GDP จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3-3.5% แม้ว่าหลายฝ่ายจะประเมินว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% ก็ตาม ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มภาคส่งออกที่ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้เป็นอย่างดี โดยในปีหน้าคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทย 39.9 ล้านคน จากปีนี้ที่ราว 35-36 ล้านคน
นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งจะเป็นแรงบวกให้กับเศรษฐกิจไทย ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะยัมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากการเร่งผลักดันมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล รวมถึงการเข้าไปดูแลประชาชนกลุ่มที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 2 ปี ผ่านโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ที่หลังจากเปิดให้มีการลงทะเบียน พบว่าได้มีประชาชนลงทะเบียน คิดเป็นมูลหนี้รวมแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท
โดย คลฦ/กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา คงขุนเทียน
✍ คอมเม้นต์ได้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น (ช่องกรอกจะปรากฎเมื่อล็อกอินแล้ว)
✍ คอมเม้นต์จะปรากฎเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้ดูและระบบ (มีระบบแจ้งเตือนเพื่อให้ผู้ดูแลระบบตรวจสอบโดยเร็ว)
✍ กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ